ข้ามไปเนื้อหา

อาชิกางะ โยชิโนริ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาชิกางะ โยชิโนริ
โชกุนคนที่ 6 แห่ง รัฐบาลโชกุนอาชิกางะ
14 เมษายน ค.ศ. 1428 - 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1441
ก่อนหน้าอาชิกางะ โยชิคาซุ
ถัดไปอาชิกางะ โยชิคัตสึ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด12 กรกฎาคม 1394
อสัญกรรม12 กรกฎาคม 1441 (47 ปี 0 วัน)
บิดาอาชิกางะ โยชิมิตสึ
บุตร-ธิดาอาชิกางะ โยชิคัตสึ

อาชิกางะ โยชิโนริ (ญี่ปุ่น: 足利 義教โรมาจิAshikaga Yoshinori) เป็น โชกุน ลำดับที่ 6 แห่ง รัฐบาลโชกุนอาชิกางะ ดำรงตำแหน่งช่วงปี ค.ศ. 1429 ถึง ค.ศ. 1441 ระหว่างยุคมูโรมาจิ ของญี่ปุ่น โยชิโนริเป็นบุตรชายของโชกุนลำดับที่ 3 อาชิกางะ โยชิมิตสึ[1] ชื่อในวัยเด็กของเขาคือ ฮารูโทระ (春寅)

ประวัติ

[แก้]

อาชิกางะ โยชิโนริ เกิดเมื่อค.ศ. 1394 เป็นบุตรชายของโชกุนอาชิกางะ โยชิมิตสึ (ญี่ปุ่น: 足利 義満โรมาจิAshikaga Yoshimitsu) กับนางสนมคือนางฟูจิวาระ โนะ โยชิโกะ (ญี่ปุ่น: 藤原 慶子โรมาจิFujiwara no Yoshiko) มีพี่ชายร่วมมารดาคืออาชิกางะ โยชิโมชิ (ญี่ปุ่น: 足利 義持โรมาจิAshikaga Yoshimochi) ในปีเดียวกันกับที่โยชิโนริเกิดขึ้น โชกุนโยชิมิตสึผู้เป็นบิดาได้สละตำแหน่งโชกุนให้แก่โยชิโมชิพี่ชาย ขึ้นครองตำแหน่งโชกุนต่อจากบิดา เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง โยชิโนริจึงบรรพชาเป็นพระภิกษุได้รับฉายาว่า พระภิกษุกิเอ็ง (ญี่ปุ่น: 義圓โรมาจิGien) ในค.ศ. 1408

ในค.ศ. 1423 โชกุนโยชิโมชิ สละตำแหน่งให้แก่บุตรชายของตนเองคือ อาชิกางะ โยชิกาซุ (ญี่ปุ่น: 足利 義量โรมาจิAshikaga Yoshikazu) ขึ้นเป็นโชกุนคนต่อมา แต่ทว่าโชกุนโยชิกาซุดำรงตำแหน่งโชกุนได้เพียงสองปีก็ถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1425 จากนั้นอีกสามปีโชกุนโยชิโมชิก็ถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1428 โดยปราศจากทายาท บรรดาผู้แทนของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะเดินทางไปยังศาลเจ้าฮาชิมัง อิวาชิมิซุ (ญี่ปุ่น: 石清水八幡宮โรมาจิIwashimizu Hachimangū) ในเมืองเกียวโตเพื่อทำการเสี่ยงทายหาผู้สืบทอดตำแหน่งโชกุนต่อไป ผลการเสี่ยงทายปรากฏว่า พระภิกษุกิเอ็งได้รับเลือกให้เป็นโชกุนคนต่อมา พระภิกษุกิเอ็งจึงสึกออกจากบรรพชิตมาเพื่อดำรงตำแหน่งโชกุน

ในสมัยของโชกุนโยชิโนริมีเหตุการณ์สำคัญสองอย่างได้แก่ การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนราชวงศ์หมิง และสงครามกับคันโตคูโบ (ญี่ปุ่น: 関東公方โรมาจิKantō kubō)

แม้ว่าโชกุนโยชิมิตสึผู้เป็นบิดาได้เริ่มนำรัฐบาลโชกุนฯ สร้างความสัมพันธ์กับราชสำนักจีนราชวงศ์หมิงตั้งแต่ ค.ศ. 1402 แต่ในสมัยของโชกุนโยชิโมชิผู้เป็นพี่ชายได้ตัดความสัมพันธ์กับจีน ในสมัยของโชกุนโยชิโนริ ค.ศ. 1433 ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับราชสำนักจีนอีกครั้งโดยการส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรียังนครปักกิ่งตรงกับรัชสมัยของจักรพรรดิเซฺวียนเต๋อ นำประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ระบบบรรณาการ (จิ้มก้อง) อีกครั้ง และจัดตั้งโทเซ็ง-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 唐船奉行โรมาจิTōsen-bugyō ) ขึ้นใน ค.ศ. 1434 เพื่อดูแลเรื่องงานการทูตกับจีน

ในภูมิภาคคันโต มีผู้สำเร็จราชการแทนโชกุนเรียกว่า คันโตคูโบ ซึ่งพำนักอยู่ที่เมืองคามากูระและมีอำนาจเหนือซามูไรในภูมิภาคคันโตและภาคตะวันออกทั้งมวล ด้วยอำนาจอันมหาศาลของคันโตคูโบ ทำให้กลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองของรัฐบาลโชกุนที่เมืองเกียวโต ใน ค.ศ. 1438 คันโตคูโบ อาชิกางะ โมชิอูจิ (ญี่ปุ่น: 足利持氏โรมาจิAshikaga Mochiuji) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนหลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของโชกุนโยชิโมชิ แต่พลาดโอกาสไปในการเสี่ยงทายที่ศาลเจ้า คันโตคูโบ โมชิอูจิต้องการตำแหน่งโชกุนที่เกียวโต จึงก่อการกบฎต่อโชกุนโยชิโนริ เรียกว่า สงครามปีเอเกียว (ญี่ปุ่น: 永享の乱โรมาจิEikyō no ran) โชกุนโยชิโนริส่งทัพเข้ายึดเมืองคามากูระได้สำเร็จ คันโตคูโบ โมชิอูจิทำการเซ็ปปูกุเสียชีวิต ทำให้ตำแหน่งคันโตคูโบ ว่างลง

ใน ค.ศ. 1440 โชกุนโยชิโนริมีความต้องการที่จะปลด อากามัตสึ มิตสึซูเกะ (ญี่ปุ่น: 赤松 満祐โรมาจิAkamatsu Mitsusukeชูโง เจ้าครองแคว้นในภูมิภาคชูโงกุออกจากตำแหน่ง สร้างความวิตกกังวลให้แก่อากามัตสึ มิตสึซูเกะ ปีต่อมา ค.ศ. 1441 หลังจากที่โชกุนโยชิโนริเสร็จสิ้นสงครามในภูมิภาคคันโตและเดินทางกลับกรุงเกียวโต อากามัตสึ มิตสึซูเกะ ได้เชื้อเชิญให้โชกุนโยชิโนริเดินทางมายังคฤหาสน์ของตนเพื่อฉลองสังสรรค์ ในงานเลี้ยงนั้นเกิดความวุ่นวายและโชกุนโยชิโนริถูกลอบสังหารถึงแก่อสัญกรรม อากามัตสึ มิตสึซูเกะ หลบหนีกลับไปยังแคว้นของตน รัฐบาลโชกุนส่งทัพไปทำการสังหารอากามัตสึ มิตสึซูเกะ ได้สำเร็จ อาชิกางะ โยชิคัตสึ (ญี่ปุ่น: 足利 義勝โรมาจิAshikaga Yoshikatsu) ผู้เป็นบุตรชายคนโตของโชกุนโยชิโนริขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนต่อมา 

ครอบครัว

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • Brett L. Walker (26 กุมภาพันธ์ 2015). A Concise History of Japan. Cambridge University Press. ISBN 978-1-316-23969-8.
  • "Akamatsu Mitsusuke - D. 1441". The Samurai Archives. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2020. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]